MRI ตรวจหัวใจ (MRI HEART | MRI CARDIAC)
การตรวจด้วยเครื่อง MRI เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (1.5 Tesla) ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์แคบๆ ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไป ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ
ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาฉีดร่วมกับการตรวจ MRI (Gadolinium based) หรือในบางการตรวจ MRI มีการเตรียมตัวเฉพาะ เช่น การงดรับประทานอาหาร น้ำ หรือยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งขั้นตอนการตรวจโดยละเอียดในวันที่มานัดตรวจ
การเตรียมตัวตรวจ
- กรุณาหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เนื่องจากเครื่องสำอางบางชนิด มีส่วนผสมของโลหะ เช่น มาสคาร่า อายชาโดว์ อาจทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยวไป (distortion) เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพ และหลีกเลี่ยงการตรวจในผู้ที่ร้อยไหมทองคำ
- ก่อนเข้ารับการตรวจ เจ้าหน้าที่จะทำการทวนตรวจสอบประวัติผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการรับการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Assessment & History of Magnetic Resonance Imaging: MRI) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอธิบายขั้นตอนการตรวจและรายละเอียดการปฏิบัติตัวให้ท่านทราบในวันตรวจ ทั้งนี้การปฏิบัติตัวขณะเข้าตรวจ MRI จะมีรายละเอียดการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกัน
- ท่านจะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดโรงพยาบาล โดยถอดเครื่องประดับทุกชนิด (เช่น ต่างหู สร้อยคอ กิ๊บ กำไล) นำโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต หรือบัตรอื่นๆที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ เครื่องช่วยหูฟัง ฟันปลอม ออกก่อนเข้าตรวจทุกครั้ง
- ท่านควรปัสสาวะก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากเป็น การตรวจที่ละเอียดและใช้เวลานาน ประมาณ 30-180 นาที ตามประเภทการตรวจ
- ในการตรวจแต่ท่านควรนอนให้นิ่งที่สุด เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยภาพที่แม่นยำ
- ในขณะที่เครื่อง MRI กำลังทำงาน จะมีเสียงดังรบกวนท่านเล็กน้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมอุปกร์ช่วยลดเสียงสวมใส่ให้ท่านเพื่อลดเสียงรบกวน
- การตรวจ MRI ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและปลอดภัย ท่านจึงสามารถเข้ารับการตรวจด้วยความรู้สึกผ่อนคลายหากท่านมีความกังวลหรือกลัวที่จะอยู่คนเดียวในห้อง หรือ กลัวที่แคบ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านอยู่ตลอดเวลา หากท่านมีปัญหาหรือเกิดความกังวลในระหว่างการตรวจท่านสามารถบีบลูกบอลฉุกเฉิน (Emergency Ball) เพื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที
ระยะเวลาทำหัตถการ : 30 – 180 นาที
คำแนะนำอื่นๆ
- กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ ถ้าท่านมีความกังวลในการเข้าตรวจ MRI หรือกลัวที่แคบ ซึ่งทางห้องตรวจจะให้ญาติเข้าไปอยู่เป็นเพื่อนด้วยได้ขณะทำการตรวจ
ข้อจำกัดในการตรวจ
- ผู้ป่วยที่มีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
- ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial Cardiac valve)
- ผู้ป่วยที่ใส่ Stent ที่หลอดเลือดหัวใจต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่ใส่ Stent ว่าเป็น Stent ชนิดใดจะทำ MRI ได้หรือไม่ (ปัจจุบัน Stent ที่หลอดเลือดหัวใจ ถ้าเป็นรุ่น MRI compatible สามารถทำได้ทันทีไม่มีผลเสียใดๆ)
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัด clips หรือโลหะต่างๆ
- ผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือโลหะอยู่ในร่างกายเช่นเคยถูกยิงมีกระสุนค้างอยู่ตามร่างกาย
- ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ (Claustrophobia)
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่มีการฉีดยาร่วมด้วย (Gadolinium based) อาจมีโอกาสเกิดการรั่วของสารออกนอกหลอดเลือดและมีโอกาสแพ้สาร Gadolinium based ซึ่งอาจเกิดภาวะไม่รุนแรง เช่นผื่นคัน บวมแดง จนถึงภาวะรุนแรง เช่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หอบเหนื่อย ภาวะหายใจขัดข้องหรือถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยา หรือเคยแพ้สาร Gadolinium based ก่อน หรืออาจมีอาการปวดบวมบริเวณตำแหน่ง หรือบวมช้ำบริเวณที่ทำการฉีด หรืออาจเกิดการแตกหรือรั่วของเส้นเลือดขณะทำการฉีด (Leakage or Extravasation)